การตรวจจับอาการลูกปืนล้อแตกในเบื้องต้นจำเป็นต้องอาศัยทักษะในการฟังเสียง กล่าวคือ ในระหว่างการขับขี่รถยนต์จะได้ยินเสียงหอนอู้ ๆ จากล้อ ซึ่งจะเพิ่มความดังตามความเร็วรถ จึงลองทดสอบได้ด้วยการเพิ่มเกียร์สูงหรือเหยียบคันเร่งเพิ่มความเร็วรถให้มากขึ้น คราวนี้อาจจะดังจนคนนั่งในรถรู้สึกหูอื้อได้เลย
หากเป็นตามนี้ก็แสดงว่าลูกปืนล้อแตกแล้ว ลำดับต่อไปคือต้องช่วยกันฟังว่าเสียงดังมาจากจุดใด หากมาจากด้านล้อหน้า จะทำให้ผู้ขับขี่และคนนั่งข้างได้ยินเสียงดังที่ชัดเจน หากเป็นล้อฝั่งคนขับจะจับเสียงดังได้ง่ายที่สุด แต่หากเป็นล้อหลังต้องอาศัยผู้นั่งโดยสารเบาะหลังช่วยฟังเสียงว่าดังมาจากด้านล้อหลังซ้ายหรือขวา เรียกได้ว่าต้องช่วยกันสังเกตในขณะที่รถวิ่งเครื่องยนต์ทำงานอยู่เท่านั้น
ทั้งนี้วิธีที่กล่าวมา เป็นการสังเกตอาการลูกปืนล้อแตกด้วยตัวเองอย่างง่าย หากจะให้ชัดเจนขึ้นควรต้องใช้อุปกรณ์คือ ใช้แม่แรงยกรถให้ลอยขึ้นทีละด้าน แล้วใช้มือด้านหนึ่งแตะตำแหน่งปีกนกหรือคานบริเวณใกล้ดุมล้อค้างไว้ ส่วนมืออีกข้างให้หมุนที่ตัวล้อ หากปีกนกหรือคานมีอาการสั่นก็เป็นบทพิสูจน์ได้ว่าลูกปืนล้อแตกจริง
หากไม่สะดวก ก็สามารถนำรถเข้าศูนย์หรืออู่ซ่อมรถ โดยหากผู้ขับขี่สามารถบอกช่างได้ในเบื้องต้นว่าสงสัยล้อรถยนต์ล้อใดมีอาการลูกปืนล้อแตก ช่างจะเริ่มตรวจได้รวดเร็วจากล้อข้างนั้นก่อน โดยมีหลักการ คือใช้เครื่องมือยกรถยนต์ขึ้น แล้วตรวจสอบล้อด้วยการจับที่ตำแหน่งเลข 12 นาฬิกา พร้อมกับ 6 นาฬิกา และจับที่ตำแหน่งเลข 3 นาฬิกาและ 9 นาฬิกา ก่อนจะลองดึงเบา ๆ ในทิศเข้าหาตัวช่าง หากลูกปืนล้อปกติจะไม่มีอาการขยับไปมา แต่หากมีอาการสั่นหรือกึกกัก ก็แสดงว่าลูกปืนล้อแตกแล้ว
แต่อย่างไรก็ตาม ช่างรถยนต์ก็นิยมทดสอบซ้ำว่าลูกปืนล้อแตกหรือไม่ด้วยอีกเทคนิคหนึ่ง คือ การถอดล้อออกเพื่อเอาลูกปืนล้อออกมาแล้วล้างจาระบีหล่อลื่นออกให้สะอาด แล้วทำการสังเกตว่าลูกปืนมีการผิดรูปจากการเสียดสีกับร่องลูกปืนหรือไม่ หากเห็นได้ว่าผิดรูปไป ก็ถึงเวลาที่ควรเปลี่ยนลูกปืนล้อแล้ว แต่ถ้ายังสังเกตการเปลี่ยนแปลงรูปร่างได้ไม่ชัด ต้องใช้วิธีนำมาสวมนิ้วแล้วหมุนไปมา หากมีอาการสะดุดก็ต้องถึงเวลาเปลี่ยนเช่นกัน
หากพิสูจน์ได้ว่าเกิดจากลูกปืนล้อรถยนต์แตกหักเสียหาย ก็ไม่ควรที่จะฝืนวิ่งรถยนต์ต่อเด็ดขาด เพราะการขับรถทั้งที่มีอาการลูกปืนล้อแตกอยู่นั้น เท่ากับการแขวนชีวิตบนเส้นด้าย ในการเปลี่ยนลูกปืนล้อ ต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพของลูกปืนล้อรถยนต์
ไม่ว่าจะเลือกใช้บริการเปลี่ยนลูกปืนล้อที่ศูนย์บริการตามแบรนด์ของรถ หรือใช้บริการกับช่างที่รู้จักตามอู่ซ่อมต่าง ๆ ก็ควรเลือกลูกปืนล้อที่มีคุณภาพสูงเข้าไว้ ซึ่งจะสัมพันธ์กับราคาของลูกปืนล้อไปด้วย (แต่มีความแตกต่างที่ค่าแรงและความไว้วางใจที่เจ้าของรถต้องพิจารณาตามความเหมาะสม)
ในส่วนวิธีการสังเกตลูกปืนล้อที่ควรใช้ ดูง่าย ๆ จากบรรจุภัณฑ์ที่ระบุมาตรฐานการผลิตสากล เช่น ISO9001 VDA6.1 ISO/TS16949 เป็นต้น ที่สำคัญคือต้องเป็นของแท้จากโรงงาน มีใบรับประกันคุณภาพสินค้าขั้นต่ำ 1 ปี และต้องใช้ให้ตรงกับรุ่นของรถยนต์ ล้อหน้าและล้อหลัง (มีลักษณะลูกปืนล้อในเชิงรายละเอียดต่างกัน)
และควรเปลี่ยนลูกปืนล้ออีกด้านที่ใช้ขับเคลื่อนคู่กันไปด้วย เพราะย่อมมีความเสื่อมหรือสึกหรอไปใกล้เคียงกัน (จนอีกไม่นานก็อาจมีลูกปืนล้อแตกเกิดได้กับอีกข้างหนึ่ง) และเพื่อรักษาสมดุลในการขับขี่ ไม่มีการกินหน้ายางข้างใดข้างหนึ่งมากเกินไป จนทำให้การควบคุมรถลำบาก
หลังการเปลี่ยนลูกปืนล้อแล้ว ก็สามารถใช้งานรถยนต์ได้ตามปกติทันที โดยจะมีอายุการใช้งานทั่วไป 2 ถึง 3 ปี ก็ต้องเปลี่ยนใหม่ หากจำเป็นต้องขับขี่บนเส้นทางถนนที่มีความขรุขระเกือบตลอดเวลา มีการตกหลุมถนนบ่อย ๆ ก็จะทำให้เกิดแรงกระแทกตามน้ำหนักรถและความเร็วที่รถวิ่ง ทำให้ลูกปืนล้อทำงานหนัก ก็จะเสี่ยงต่อลูกปืนล้อแตกมากกว่ารถที่วิ่งบนถนนทางหลวงหรือเพียงขับรถเส้นทางระหว่างบ้านกับที่ทำงาน
อาการลูกปืนล้อแตกนอกจากทำให้เกิดเสียงดังเป็นที่รำคาญแก่ผู้ขับขี่แล้ว ยังมีอันตรายถึงชีวิตได้หากปล่อยให้รถวิ่งไปเรื่อย ๆ ในสภาพที่ลูกปืนแตก ไม่ว่าจะเสี่ยงต่อการเกิดประกายไฟ ดุมและเพลาเสียหาย และล้อหลุดออกจากตัวรถ ทำให้เสียการทรงตัวและตกถนนได้ การใส่ใจสังเกตเสียงที่ดังผิดปกติจากล้อ จะช่วยให้รีบตรวจหาสาเหตุและแก้ไข เปลี่ยนลูกปืนล้อได้แต่เนิ่น ๆ (แม้ว่าอาการนี้จะเกิดได้กับรถที่ค่อนข้างใช้งานมานาน หรือ วิ่งเกิน 1 แสนกิโลเมตรก็ตาม) เพียงเท่านี้ก็ช่วยลดความเสี่ยงอุบัติภัยจากลูกปืนล้อแตกได้แล้ว
อาการลูกปืนล้อแตกเป็น สาเหตุของอุบัติภัยทางรถยนต์ที่พบบ่อย ทำให้การควบคุมรถเป็นไปได้ยาก และในกรณีที่รุนแรงอาจทำให้ล้อรถยนต์หลุดออกจากเพลารถ