BLOGS

เปลี่ยนยางใหม่…จะเลือกดอกยางรถยนต์อย่างไรดี

คุณต้องการให้ คาร์แทรค ช่วยเหลือเรื่องอะไร?

ฉันเป็น / ...
จำนวนยานพาหนะของคุณ
ขอบคุณค่ะ เจ้าหน้าที่คาร์แทรคจะติดต่อกลับหาคุณโดยเร็วที่สุด
Oops! Something went wrong while submitting the form.

ทิศทางของลาย มีความสำคัญต่อการประสิทธิภาพการขับขี่และการสลับยาง

ดอกยางในยางใหม่จะมีลักษณะลายเส้นชัดเจน สังเกตได้ว่าจะมีสองชนิดตามทิศทาง คือ

แบบมีลายทิศทางเดียว – จะเป็นการกำหนดให้ล้อหมุนในทางเดียว และเป็นการเพิ่มความสามารถในการรีดน้ำออกจากหน้ายางส่วนที่สัมผัสกับผิวถนนได้ดีขึ้น โดยโรงงานผลิตจะทำสัญลักษณ์รูปลูกศรบอกทิศทางในการหมุนของยางอยู่บริเวณแก้มยาง จึงต้องเลือกใช้ให้ถูกด้าน เช่นเหมาะกับฝั่งซ้ายหรือขวาของตัวรถ ดังนั้นจึงไม่สามารถใส่สลับซ้ายขวาของรถยนต์เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินได้ (หลายคนที่นิยมเก็บยางเก่าไว้เป็นยางอะไหล่ต้องคำนึงถึงประเด็นนี้ด้วย)

แบบมีลายทั้งสองทิศทาง – จะมีคุณสมบัติในการรีดน้ำน้อยกว่า เหมาะกับการเดินทางที่ไม่ใช้ความเร็วสูง ขับขี่ในเมือง หากต้องเดินทางในพื้นที่ชื้นแฉะหรือฤดูฝนต้องเพิ่มความระมัดระวังยิ่งขึ้น แต่ก็มีข้อดีที่สามารถสลับสับเปลี่ยนตำแหน่งกันได้ทุกล้อ เป็นประโยชน์สำหรับการปรับการสึกหรอของยางแต่ละด้านให้เท่า ๆ กัน

เลือกขนาดตามลักษณะการใช้งานรถยนต์เสมอ

การเลือกดอกยางที่ตอบโจทย์การใช้งานของรถยนต์สัมพันธ์กับความปลอดภัยในการขับขี่อย่างมาก เพราะลักษณะหน้ายาง (ดอกและร่องยาง) จะถูกดีไซน์ให้มีความแตกต่าง ทั้งด้านการยึดเกาะถนน การรีดน้ำออกจากร่องยาง การสลัดดินโคลนที่เกาะตามร่องยาง การปีนป่ายตามพื้นที่ลาดชัน การควบคุมเสียงดังรบกวน ฯลฯ จึงเป็นสิ่งที่ผู้ขับขี่รถแต่ละท่านควรพิจารณาเลือกยางรถยนต์ที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ อาทิ

ยางรถสำหรับรถยนต์ทั่วไป

เพื่อการขับขี่ไปทำงาน ซื้อของตามห้างสรรพสินค้า ฯลฯ เป็นการใช้งานบนถนนทางหลวง ถนนในตรอกซอยที่มีความเรียบค่อนข้างมาก เช่น พื้นคอนกรีต กรวดบด ซีเมนต์ ฯลฯ ควรเลือกแบบที่เป็นลายเล็กละเอียด ร่องยางถี่ (ร่องยางคือส่วนที่แบบแนวแคบ ๆ อยู่ระหว่างดอกยาง) เพื่อให้มีพื้นที่หน้ายางมากพอสมควรในการสัมผัสกับผิวถนน

ขณะเดียวกันก็ยังคงคุณสมบัติในการรีดน้ำออกจากหน้ายางได้อย่างรวดเร็ว และไม่สร้างเสียงรบกวนระหว่างขับขี่ด้วย

ยางสำหรับการบุกลุยในทุกเส้นทางอย่างรถออฟโรด

เน้นการใช้งานในพื้นที่พิเศษอย่างถนนที่ขรุขระมีหลุมบ่อมาก ต้องเผชิญกับหิน ดินโคลน กรวดทราย ฯลฯ เกือบตลอดเวลา กรณีนี้จำเป็นต้องเลือกลักษณะดอกยางที่มีขนาดใหญ่และมีร่องยางค่อนข้างห่างหรือกว้าง เพื่อให้สามารถสลัดหินหรือเศษกรวดที่เกาะอยู่ออกได้ง่ายขึ้น ในส่วนนี้เรียกว่าจำเป็นมาก เนื่องจากหากมีเศษกรวดหินเกาะตามร่องยางมาก จะทำให้ยางลื่น ขาดแรงยึดเกาะถนน ไม่สามารถขับเคลื่อนต่อได้

อย่างไรก็ตาม ถ้านำรถออฟโรดที่ใช้ดอกยางใหญ่นี้มาขับขี่บนถนนทางหลวงทั่วไป จะทำให้การยึดเกาะน้อย ทั้งยังสร้างเสียงดังรบกวนการขับขี่ โดยเฉพาะเมื่อวิ่งรถด้วยความเร็วสูง

ยางสำหรับการใช้งานแบบผสม

คือ จะใช้ขับขี่บนถนนพื้นเรียบ ก็ได้การยึดเกาะที่ดี แต่มีเสียงรบกวนบ้างเล็กน้อย ขณะเดียวกัน ก็สามารถนำไปใช้ขับขี่บนทางดินลูกรัง มีกรวดหินทรายมากก็ยังได้ แต่กระนั้นก็ยังมีข้อจำกัด คือ ไม่ควรใช้ขับขี่บนพื้นผิวถนนที่เป็นดินโคลน โดยเฉพาะในฤดูฝนหรือสภาวะอากาศที่มีฝนตกบ่อย เพราะดอกยางแบบนี้จะขาดคุณสมบัติในการสลัดดินออก ทำให้เสี่ยงต่อการลื่นไถลหรือติดหล่มโคลนง่าย

เลือกแบบที่สัมพันธ์กับความเร็วในการขับขี่ด้วย

สำหรับผู้ขับขี่ที่นิยมใช้ความเร็วสูง ไม่ว่าถนนในกรุงเทพหรือต่างจังหวัด แนะนำให้เสริมความมั่นใจในความปลอดภัย ทั้งการเร่งความเร็ว การยึดเกาะถนน และการเบรกที่ทรงประสิทธิภาพ ด้วยการใช้ดอกยางแบบที่มีลายเส้นเป็นทิศทางเดียว  เพื่อให้พื้นผิวระหว่างหน้ายางกับผิวถนนมีความเรียบเนียนมากที่สุดและลดความเสี่ยงต่อการลื่นไถลได้สูง

ลายดอกยางที่ดีต้องเหมาะกับองศาการเลี้ยวโค้งของถนน

สำหรับหลายท่านที่นิยมการท่องเที่ยวเส้นทางไกล ขับขี่ข้ามจังหวัดแต่ยังเป็นเส้นทางที่เรียบ เช่น ถนนทางหลวงสาธารณะ โดยมักต้องประสบกับสภาพภูมิศาสตร์ทางธรรมชาติที่แตกต่างกัน เช่น มีความโค้งลาดชันของถนนในบางจุดมากกว่าปกติ มีทางเลี้ยวหักศอกซ้ายขวาเป็นระยะ ฯลฯ

อย่างนี้ต้องเลือกดอกยางที่ลายดอกด้านนอกกับด้านในไม่สมมาตรกัน ลายดอกที่ต่างกันจะช่วยเพิ่มการยึดเกาะถนนได้ดียิ่งขึ้น กล่าวคือด้านในจะช่วยให้ขับเส้นทางตรงหรือการใช้ความเร็วสูงได้อย่างปลอดภัย ส่วนด้านนอกจะช่วยให้เข้าโค้งได้อย่างปลอดภัยยิ่งขึ้น

จะเห็นได้ว่าสี่ประเด็นที่กล่าวมา เป็นการเลือกดอกยางที่ช่วยให้คุณได้ยางเส้นใหม่ที่เหมาะกับการใช้งานจริง ไม่ว่าสถานการณ์ไหนคุณก็สามารถขับขี่ได้อย่างปลอดภัยไร้กังวล

จะเปลี่ยนยางใหม่ทั้งที การเลือก ดอกยาง รถยนต์ก็สำคัญมาก เพราะนอกจากลวดลายความสวยงาม ยังรักษาความปลอดภัย ด้วยการดีไซน์ให้ยึดเกาะกับผิวถนน