BLOGS

เทคนิคลดอุบัติภัยจาก เบรกแตก อย่างง่าย

คุณต้องการให้ คาร์แทรค ช่วยเหลือเรื่องอะไร?

ฉันเป็น / ...
จำนวนยานพาหนะของคุณ
ขอบคุณค่ะ เจ้าหน้าที่คาร์แทรคจะติดต่อกลับหาคุณโดยเร็วที่สุด
Oops! Something went wrong while submitting the form.

อาการเบรกแตกสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาที่ขับขี่โดยสาเหตุที่พบบ่อย

  1. การวิ่งรถยนต์ด้วยความเร็วสูงเกิน 140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อมีสิ่งกีดขวาง ไม่ว่าผู้คนที่สัญจร สุนัข หรือรถยนต์คันอื่นที่ยูเทิร์น หรือวิ่งตัดถนนมาจากแยกเลี้ยว ซอยถนนต่าง ๆ ทำให้ต้องเหยียบเบรกอย่างกะทันหัน ทำให้ผ้าเบรกไหม้ไม่สามารถหยุดรถได้ตามการบังคับ
  2. ผู้ขับขี่รถยนต์ที่เคยชินกับการแตะเบรกบ่อย ๆ โดยที่รถยนต์ก็ยังแล่นด้วยความเร็วสูงต่อเนื่องเกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้เกิดอุณหภูมิที่ร้อนจัดในระบบเครื่องยนต์ ที่สำคัญ คือ น้ำมันเบรกจะเกิดการระเหยกลายเป็นไอ (vapor) อยู่ภายในกระบอกสูบ จึงส่งผลให้ขาดแรงดันของน้ำมันในรูปของเหลว (liquid) ที่จะไปดันลูกสูบให้ไปกระทบต่อที่ผ้าเบรก การเบรกจึงไม่สัมฤทธิ์ผล
  3. เกิดจากสัตว์กัดแทะจำพวกหนูไปกัดชิ้นส่วนภายในเครื่องยนต์ โดยเฉพาะส่วนของสายเบรกและผ้าเบรก
  4. ขาดการตรวจสอบคุณภาพหรือความพร้อมของอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น
  5. ผ้าเบรกไหม้หรือหมดอายุ
  6. คุณภาพน้ำมันเบรกเสื่อมสภาพ
  7. ท่อแป๊บเบรกผุ ท่อน้ำมันเบรกมีรอยแตก ทำให้เกิดการรั่วซึมของน้ำมันเบรก
  8. ลูกสูบเบรกหลุด จานเบรกแตก

จะเห็นได้ว่าสาเหตุที่กล่าวมาล้วนมาจากพฤติกรรมการขับขี่และการขาดความใส่ใจซ่อมบำรุงชิ้นส่วนต่าง ๆ ของระบบเครื่องยนต์เท่าที่ควร ดังนั้นผู้ขับขี่ควรเช็คในจุดต่าง ๆ ที่กล่าวมาให้ละเอียดยิ่งขึ้นเพื่อป้องกันภัยจากเบรกแตก

วิธีตรวจสอบสภาพระบบเบรกรถยนต์เพื่อลดความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุจากเบรกแตก

  1. การนำรถไปให้ช่างที่ศูนย์หรืออู่ที่มีเครื่องมือทดสอบเบรก ป้องกันเบรกแตกได้ โดยจะมีการเคลื่อนรถเข้าสู่แท่นทดสอบมาตรฐานแล้วทำให้ล้อหมุนด้วยเครื่องจักรก่อนจะทำให้หยุดเพื่อเช็คความแม่นยำของระบบเบรก วิธีนี้เป็นวิธีที่สะดวกและมีค่าใช้จ่ายไม่สูง ควรเช็คเป็นประจำทุก 5,000 กิโลเมตร
  2. เช็คระบบเบรกรวมถึงการตรวจสภาพใช้งานของอุปกรณ์อื่น ๆ ในเครื่องยนต์พร้อมกัน เป็นการตรวจใหญ่ ที่แนะนำให้ทำอย่างน้อยปีละครั้ง ในช่วงที่จะต่อภาษี โดยเลือกศูนย์บริการที่มีตราสัญลักษณ์ ตรอ. ที่หมายถึงการเป็นสถานตรวจเช็คสภาพรถเอกชนที่ได้รับการอนุญาตอย่างเป็นทางการจากกรมการขนส่งทางบก เพื่อให้มั่นใจในมาตรฐานของเครื่องมือและความชำนาญของช่างประจำศูนย์นั้น

การป้องกันเบรกแตกสามารถทำได้หลายวิธี

  1. เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเบรก อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  2. เลือกผ้าเบรกที่มีคุณภาพสูง เพื่อให้สามารถต้านความร้อนจัดได้ดี และต้องหมั่นเปลี่ยนผ้าเบรกเมื่อบางใกล้ 3 มิลลิเมตร อย่าปล่อยให้ผ้าเบรกหมดอย่างเด็ดขาด เสี่ยงต่อเบรกแตกได้
  3. หากเคยเจียรจานเบรก จะทำให้จานเบรกบางลงเสี่ยงต่อการแตกชำรุดได้ง่าย ต้องให้ช่างที่ชำนาญเช็คให้บ่อยขึ้น

การเรียนรู้เทคนิคการรับมือกับรถยนต์ที่อยู่ในช่วงเบรกแตก

เทคนิค เป็นอีกสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญอย่างมาก เพื่อไม่ให้เกิดอาการตระหนกตกใจจนประคองสติไม่อยู่ในเวลาฉุกเฉิน โดยแนะนำให้ทำตามขั้นตอน ดังนี้

  1. เมื่อรู้ตัวว่าเบรกไม่อยู่หรือเบรกแตกให้รีบกดปุ่มไฟฉุกเฉินขึ้นมาเป็นอันดับแรก เพื่อเป็นสัญญาณเตือนภัยให้รถคันอื่นที่อยู่ในบริเวณนั้นระมัดระวังรถของเรา และให้ขับรถห่างจากรถของเรา
  2. พยายามประคองความเร็วและทิศทางรถอย่างดีที่สุด หากอยู่ใกล้เลนด้านซ้ายที่รถส่วนใหญ่วิ่งด้วยความเร็วต่ำ ก็ควรประคองเพื่อชิดขอบถนนซ้ายให้มากที่สุด แต่หากอยู่เลนทางด้านขวาที่รถมักวิ่งเร็ว ต้องพยายามประคองให้รถวิ่งในเลนถนนที่โล่ง ไร้สิ่งกีดขวางให้มากที่สุด
  3. พยายามถอนเท้าออกจากคันเร่งและห้ามปล่อยมือจากพวงมาลัยอย่างเด็ดขาด
  4. (สำหรับคนที่ขับรถยนต์ในระบบเกียร์ออโต) ให้ใช้วิธีดึงเกียร์จากตำแหน่งขับหรือ D มาเป็นเลข 3 และ 2 และสิ้นสุดที่ L อย่างเป็นลำดับ ห้ามใช้วิธีเลื่อนเกียร์ข้ามจาก D มา L อย่างกะทันหันเพราะจะทำให้รถยนต์เสียการทรงตัวและทำให้ระบบเกียร์ออโตพังไม่สามารถควบคุมได้
  5. (สำหรับผู้ขับขี่รถยนต์ที่เป็นระบบเกียร์กระปุก) ให้ใช้การเหยียบคลัทต์ พร้อมกับการไต่ลดระดับเกียร์ จาก 5 มา 4 3 2 และ 1 เพื่อเป็นการชะลอความเร็วอย่างเป็นลำดับ ไม่ทำให้รถหมุนเสียการทรงตัวจนเกิดอุบัติเหตุร้ายแรง
  6. ใช้ระบบเบรกมือของรถยนต์ช่วยได้ ไม่ว่าจะขับรถเกียร์กระปุกหรือเกียร์ออโต้ แต่มีข้อระวังคือ ห้ามดึงเบรกมือสุดแรงในครั้งเดียวอย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้รถยนต์เสียการทรงตัว จนหมุนพลิกคว่ำได้

การเกิดเบรกแตกมีความเสี่ยงสูงต่อความเสียหายขั้นรุนแรงถึงเสียชีวิตได้ การไม่ละเลยซ่อมบำรุงตามระยะทาง เช่น ทุก 5,000 กิโลเมตร และหมั่นตรวจสอบสภาพเครื่องยนต์ให้พร้อมต่อการใช้งานเสมอ โดยเฉพาะระบบเบรก จึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง ขณะเดียวกันก็ควรหมั่นทบทวนเทคนิคต่าง ๆ ในการรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อให้สามารถคงสติและลดความรุนแรงจากอุบัติภัยทางรถยนต์ได้

อุบัติภัยบนท้องถนนที่เกิดจาก เบรกแตก เป็นอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน มาดูถึงสาเหตุ วิธีตรวจสอบ การป้องกัน และเทคนิครับมือเมื่อคุมเบรกไม่ได้