GPS อุปกรณ์เครื่องเล็กๆที่กำลังผูกติดกับชีวิตการเดินทางของเราอย่างแยกไม่ออก ไม่ว่าเราจะเดินทางไปไหน จะเดินทางยังไง ใช้เส้นทางไหนยิ่งโดยเฉพาะเส้นทางที่เราไม่เคยไปด้วยแล้วก็มีอันต้องเปิด GPS หรือแผนที่นำทางในโทรศัพท์มือถือเพื่อดูข้อมูลอยู่เสมอ แต่เคยสงสัยกันไหมครับว่าเจ้า GPS บอก ทาง เราได้อย่างไร รู้ได้อย่างไรว่าเรากำลังจะเดินทางไปไหน และรู้สภาพการจราจรบนพื้นถนนได้ยังไง วันนี้เรามาหาคำตอบกันนะครับ
ในความเป็นจริงแล้ว GPS นั้นไม่สามารถช่วยบอกทางให้กับเราได้เพราะ GPS เป็นระบบระบุพิกัดที่จะบอกเราว่ากำลังอยู่ในตำแหน่งไหนและตรวจจับการเคลื่อนที่ว่าเรากำลังจะไปทิศทางไหนด้วยความเร็วเท่าไหร่จากการรับส่งสัญญาณของดาวเทียม GPS 4 ดวงขึ้นไปกับตัวเครื่อง GPS บนโลก ซึ่งจะทำให้ทราบว่าตอนนี้ตัวเครื่องมีระยะห่างจากดาวเทียมเท่าไหร่ แล้วคำนวณประมวลผลออกมากลายเป็นพิกัดในปัจจุบันของเรา
นั่นหมายความว่าในทุกๆวินาทีที่เราขับรถ ดาวเทียมจะสามารถจับได้ว่าเรากำลังเคลื่อนห่างออกไปเรื่อยๆ และไปเข้าใกล้ดาวเทียมดวงอื่นแทน ซึ่งทำให้สามารถคำนวณได้ว่าเรากำลังเดินทางไปในทิศทางไหนและใช้ความเร็วเท่าไหร่นั่นเอง
ส่วนที่แอปพลิเคชันต่างๆเช่น Google Maps หรือเครื่อง GPS บอกทางเราได้เพราะเกิดจากการทำงานร่วมกับระบบของแผนที่ โดย GPS จะบอกพิกัดว่าอยู่บริเวณใด อยู่ตรงช่องการจราจรไหน กำลังไปทิศทางไหน และความเร็วของรถเป็นยังไง ส่วนตัวแผนที่จะคอยกำหนดเส้นให้เราว่าต้องเลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา กลับรถ หรือเปลี่ยนช่องการจราจร เพราะหากลองสังเกตดูจะพบว่าเมื่อเราขับรถไปบนถนนที่เส้นทางยกระดับอยู่ ก็สามารถทำให้ GPS บอกทางผิดพลาดได้เช่นกัน ทั้งนี้เพราะตัวGPSนั้นไม่ได้นำความสูงมาใช้คำนวณด้วยแต่ใช้ข้อมูลจากระบบแผนที่ซึ่งบางครั้งเส้นถนนที่ทับกันทำให้เกิดการคำนวณเส้นทางที่ผิดพลาดได้
เมื่อเราเปิด Google Maps หรือแอปลิเคชันนำทางอื่นๆ และได้ยินยอมแชร์ตำแหน่งของเรา จะทำให้โทรศัพท์ของเราส่งข้อมูลแบบไม่ระบุตัวตนกลับไปบอกทางผู้พัฒนาเพื่อรวบรวมข้อมูลว่าเรากำลังเคลื่อนที่ด้วยความเร็วเท่าไหร่ แล้วนำไปเปรียบเทียบกับโทรศัพท์มือถือเครื่องอื่นๆ ที่อยู่บนถนนเส้นเดียวกัน
เมื่อนำข้อมูลทั้งหมดรวมเข้าด้วยกันและประมวลผลออกมาก็ทำให้ทราบสภาพการจราจรว่าจุดไหนที่มีคนหนาแน่น รถเคลื่อนไหวได้ช้า แล้วส่งข้อมูลกลับมาแสดงให้เราเห็นนั่นเอง ซึ่งหลายคนเมื่อทราบว่ามีการส่งข้อมูลผู้ใช้ไปหาผู้พัฒนาอาจจะมีความกังวลเรื่องของการเสียค่าอินเตอร์เน็ต และในด้านความเป็นส่วนตัว รวมถึงความปลอดภัยของข้อมูล
แต่ในความจริงแล้วข้อมูลที่ส่งไปให้ระบบประมวลผลมีขนาดไม่กี่ไบท์เท่านั้นจึงไม่เปลืองดาต้ามือถือ นอกจากนี้ข้อมูลที่ระบบได้รับจากเราไปนั้นจะไม่มีการดึงเอาข้อมูลส่วนตัว ไม่ว่าเป็นชื่อจริงนามสกุลจริง เบอร์โทรศัพท์ ที่อยู่ หรือรหัสต่างๆ ไปใช้อย่างแน่นอน จึงเปิดใช้และร่วมส่งข้อมูลให้ระบบทำการคำนวณเพื่อช่วยเพิ่มความแม่นยำกันได้อย่างสบายใจ
นอกจากการใช้การตรวจจับจากอุปกรณ์ที่ใช้ GPS แล้ว ทางผู้พัฒนาระบบยังสามารถเก็บข้อมูลจากผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือในประเทศนั้น ๆได้ด้วย โดยจะใช้เสาสัญญาณโทรศัพท์หลาย ๆ ต้น มาคำนวณหาพิกัดของโทรศัพท์เครื่องนั้น ๆ ว่าอยู่ตรงไปและมีการเคลื่อนที่หรือไม่นั่นเอง
Waze เป็นแอพคอมมูนิตี้ที่มีลักษณะแผนที่พร้อมระบบนำทาง มีจุดแข็งที่มีผู้ใช้ที่แข็งแกร่งเหนียวแน่น ซึ่งคอยช่วยกันรายงานสภาพจราจรอยู่เสมอ ไม่ว่าเป็นการเกิดอุบัติเหตุ การจราจรติดขัด หรือปัญหาอื่นๆเกี่ยวกับสภาพการจราจรบนท้องถนน ซึ่งเมื่อ Google ได้ซื้อ Waze มาก็ได้รวมเอาข้อมูลจากผู้ใช้ใน Waze มาแสดงขึ้นบน Google Maps ด้วยทำให้ผู้ใช้สามารถทราบปัญหาที่เกิดขึ้นบนท้องถนนได้ทันที
ในบางประเทศผู้ให้บริการ GPS บอกทางได้มีการทำข้อตกลงและเซนตสัญญากับหน่วยงานต่างๆของประเทศนั้นๆที่ดูแลเรื่องสภาพการจราจรอยู่ เพื่อขอแลกเปลี่ยนหรือซื้อขายข้อมูลสภาพการจราจรแล้วนำมาใช้ประกอบการประมวณผลของระบบ ตัวอย่างเช่นหากลองสังเกตบนถนนเส้นหลักๆในกรุงเทพฯ มักจะมีป้ายจราจรอัจฉริยะที่คอยบอกสภาพการจราจรในปัจจุบันให้ผู้ใช้รถใช้ถนนได้สภาพการจราจรข้างหน้าเช่นกัน
ระบบ GPS บอกทางนั้นได้ถูกพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆเมื่อเทียบกับในยุคแรก ที่ผู้ใช้มักประสบปัญหาแผนที่ไม่ตรงกับสถานที่จริง การพาหลง การตรวจจับสัญญาณที่ไม่เสถียรทำให้ตำแหน่งปัจจุบันคลาดเคลื่อน ถือว่าปัจจุบัน GPS บอก ทางได้อย่างแม่นยำขึ้นอย่างมาก แม้ว่าอาจจะมีข้อผิดพลาดบ้างหากการส่งสัญญาณจากดาวเทียมถูกรบกวน แต่ผูพัฒนาระบบหลายๆแห่งก็คอยพัฒนาให้ระบบ GPS นั้นมีความแม่นยำมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้เราสามารถเดินทางได้อย่างสะดวกสบายนั่นเอง
เคยสงสัยกันไหมครับว่า GPS บอก ทาง เราได้อย่างไร รู้ว่าเรากำลังจะเดินทางไปไหนและรู้สภาพการจราจรบนพื้นถนนได้ยังไง วันนี้เรามาหาคำตอบกันนะครับ