ร่างกายของคนเรานั้นต้องการการพักผ่อนประมาณ 7 – 9 ชั่วโมง/วัน ซึ่งหากต้องการนอนหลับให้มากพอ ควรตั้งนาฬิกาชีวิตให้เป็นระบบระเบียบ เมื่อทำเป็นประจำแล้วร่างกายก็จะพร้อมสำหรับการนอนหลับพักผ่อนแล้ว หรืออาจใช้วิธีอาบน้ำอุ่น ๆ ก่อนนอนเพื่อสร้างความผ่อนคลายและทำให้นอนหลับสนิทง่ายขึ้น การนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอจะช่วยให้ร่างกายรู้สึกกระฉับกระเฉง พร้อมสำหรับการขับขี่รถยนต์อย่างมีสติตลอดเส้นทาง ป้องกันอาการง่วงนอนที่จะนำไปสู่การหลับในได้
หากขับรถเป็นระยะทางไกล ๆ ร่างกายมักเกิดความเมื่อยล้าอ่อนเพลีย เนื่องจากประสาทสัมผัสส่วนต่าง ๆ ของร่างกายถูกกระตุ้นให้ทำงานอย่างเต็มที่ ดังนั้นเมื่อขับขี่เป็นระยะเวลาไกล ๆ ผู้ขับขี่ควรหยุดแวะพักบ้างเป็นระยะ และในขณะแวะพักอาจหลับตาเพื่อป้องกันอาการล้าของดวงตา หรืองีบหลับบ้างสัก 10 – 20 นาที เพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อน รู้สึกกระปรี้กระเปร่ามากขึ้น ลดการเกิดอาการหลับในได้
หรืออาจกำหนดเป็นการพักทุก ๆ ระยะทาง 150 กิโลเมตร หรือทุก ๆ 2-3 ชั่วโมงที่ขับรถยาวอย่างต่อเนื่อง ยิ่งเริ่มรู้สึกง่วงในระหว่างการขับรถ ผู้ขับขี่ยิ่งควรหาทางพักผ่อนทันที อย่าฝืนหรือเสี่ยงขับรถต่อไป เพราะหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาจริง ๆ ย่อมเป็นความสูญเสียที่ไม่คุ้มค่าเลยแม้แต่น้อย
อาหารหลายอย่างมีฤทธิ์ช่วยกระตุ้นให้ประสาทตื่นตัวได้ดี อย่างผลไม้ ลูกอมหรือของขบเคี้ยวที่มีรสเปรี้ยว หรือเครื่องดื่มที่มีรสหวานที่จะสร้างความสดชื่นได้ดี ยิ่งเครื่องดื่มหวาน ๆ รสเย็น ๆ หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนอย่างกาแฟ หรือชาก็สามารถสร้างความสดชื่นลดโอกาสเกิดการหลับในได้ แต่ห้ามดื่มของมึนเมาเด็ดขาด
เพราะของมึนเมาจะทำให้ประสิทธิภาพการตัดสินใจของผู้ขับขี่ลดลง ส่งผลให้เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายได้ หรือถ้ายังไม่รู้สึกหิวหรือรับประทานอะไร อาจเพิ่มความสดชื่นให้ร่างกายง่าย ๆ ด้วยผ้าเย็น หรืออมน้ำแข็งสักก้อน ก็สามารถสร้างความสดชื่นได้ง่าย ๆ แล้ว การดื่มน้ำอย่างเพียงพอยังป้องกันความรู้สึกอ่อนเพลีย ปวดหัวหรือเหนื่อยล้าได้ดี
เพื่อป้องกันไม่ให้รู้สึกง่วงในระหว่างการขับรถอันกลายเป็นสาเหตุของการหลับในได้ ผู้ขับขี่ควรหากิจกรรมมาช่วยแก้ง่วง ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเพลงที่ชอบดัง ๆ หรือเพลงจังหวะเร็ว ๆ ที่จะช่วยกระตุ้นให้ประสาทร่างกายตื่นตัว ลดอาการวูบในขณะขับรถได้ดี หรืออาจจะหาเพื่อนร่วมทางสักคนให้ผู้ขับขี่ได้สนทนาพูดคุยลดโอกาสการหลับในได้ดี
รวมถึงการยืดเส้นยืดสายง่าย ๆ ในระหว่างการขับรถ เช่น การยกสะโพกค้างเอาไว้ การสะบัดข้อมือ การยืดข้อศอก หรือการกระพริบตาถี่ ๆ เพื่อขับไล่ความรู้สึกง่วงนอนให้หมดไปได้
อาหารหลายชนิดมีฤทธิ์ในการกดประสาท ทำให้ง่วงนอนในขณะขับรถอย่างเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉพาะในคืนก่อนที่จะต้องขับรถเป็นระยะทางไกล ๆ หรือการอดนอน ซึ่งจะส่งผลให้ร่างกายรู้สึกเหนื่อยล้าอันเป็นสาเหตุของอาการหลับในได้ รวมถึงหากผู้ขับขี่เป็นผู้ที่มีโรคประจำตัวและจำเป็นต้องรับประทานยาที่ทำให้ง่วง ก็ควรหยุดรับประทานยาในช่วงที่จะเป็นต้องขับรถก่อน
ยาที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วงนอนนั้นก็มีตัวอย่างเช่น ยาแก้ปวด ชนิด Tramado ,Amitriptyline ยาแก้แพ้ ยาแก้อักเสบบางชนิด โดยเฉพาะยาที่มีคำเตือนว่าจะทำให้ง่วงนอน เพราะยาจำพวกนี้มักส่งผลต่อระบบประสาทส่งผลให้ประสิทธิภาพในการขับขี่ลดลง ความสามารถในการตัดสินใจช้าลง อาจมองเห็นเป็นภาพเบลอ ไม่ชัดเจน เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ
ภาวะหลับในสามารถป้องกันได้ด้วยการเตรียมร่างกายให้พร้อม ยิ่งหากผู้ขับขี่รู้ตัวล่วงหน้าว่าจะต้องขับรถทางไกลเป็นระยะเวลานาน ๆ ก็ยิ่งจำเป็นที่จะต้องเตรียมตัวให้ดี เพราะการขับขี่อย่างมีประสิทธิภาพนั้น นอกจากจะทำให้คุณและผู้ร่วมโดยสารปลอดภัยแล้ว ยังส่งผลต่อผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่น ๆ ด้วย
อาการหลับใน เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนถนน ลักษณะอาการคือคนขับเกิดวูบหลับระหว่างขับรถ แต่อาการวูบหลับนั้นสามารถป้องกันได้ง่าย