การเดินทางเป็นหนึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นมาคู่กับมนุษยชาติตั้งแต่อดีตนับตั้งแต่เกิดมนุษย์ขึ้นบนโลก เราได้ออกเดินทางย้ายถิ่นกระจายตัวไปตามที่ต่างๆเพื่อค้นหาถิ่นที่อยู่ที่เหมาะสม สร้างอารยธรรมจนรุ่งเรือง แล้วก็เริ่มเดินทางอีกครั้งเพื่อการติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และออกสำรวจเพื่อขยายอาณาจักรตัวเอง แน่นอนเมื่อพูดถึงการเดินทางในปัจจุบันนั้นเป็นเรื่องที่สะดวกสบายเพราะเรามีทั้งยานพาหนะที่รวดเร็ว มี GPS เป็นเครื่องมือนำทางที่ทันสมัย ทำให้เราสามารถไปที่ไหนก็ได้โดยไม่หลงแม้เราจะไม่เคยไปมาก่อน แต่คนในอดีตเขาเดินทางกันอย่างไร การนำทาง เพื่อไปถึงจุดหมายได้อย่างไรในโลกที่ไม่มี GPS
ในการเดินทางยุคแรกที่บรรพบุรุษของเราไม่มีแผนที่ แต่ได้รู้จักทิศและค้นพบว่าดาวเหนือนั้นจะประจำอยู่ทางทิศเหนือเสมอ การนำทางด้วยดาวจึงเกิดขึ้นโดยก่อนออกเดินทางจะวัดความสูงและมุมของดาวเหนือจดบันทึกไว้ เมื่อออกเดินทางก็จะคอยสังเกตดาวเหนือและรักษามุมสูงของดาวไว้ให้คงที่ตลอด เมื่อเดินทางกลับก็จะเปลี่ยนเข็มไปทางทิศตะวันออกหรือตะวันตกตามขอบวงขนานละติจูด ก็จะสามารถกลับถึงที่ได้
การวัดมุมในยุคแรกนั้นอาศัยการใช้นิ้วมือหนึ่งหรือสองนิ้ว หรือควมกว้างของนิ้วทั้ง 5 ที่กางออก แล้วเหยียดแขนตรงไปวัดมุมสูงของดาวเหนือโดยเทียบกับเส้นขอบฟ้า ต่อมาชาวอาหรับจึงได้ประดิษฐ์เครื่องมือวัดมุมแบบง่ายๆ เรียกว่าคามาล (Kamal) เป็นแผ่นไม้สี่เหลี่ยมผืนผ้ามีเชือกร้อยผ่านกลางแผ่นไม้ เส้นเชือกมีการขวมวดปมหลายๆปมโดยเว้นระยะห่างเท่าๆกัน
เมื่อต้องการวัดมุมดาวเหนือก็จะต้องใช้ปากกัดเชือกเอาไว้แล้วถือคามาลไว้เหยียดแขนออกไปให้ขอบบนของคามาลแตะดาวเหนือขอบล่างแตะเส้นขอบฟ้าพอดี และนับว่าปมที่ไหร่ของเชือกจึงตึงพอดีแล้วบันทึกเลขไว้
ต่อมาเมื่อการเดินเรือของชาวอาหรับแพร่เข้าสู่ยูโรป ชาวอาหรับได้คิดค้นเครื่องมือเพื่อใช้ในการนำทางด้วยดวงดาวที่แม่นยำมากขึ้น จนเกิดเครื่องวัดมุมดาว หรือ ควอแดรนท์ (Quadrant) ซึ่งใช้เพื่อวัดมุมของดาวเช่นเดียวกับคามาล แต่ต่อมาในช่วงยุคกลางวิทยการ การเดินเรือนั้นพัฒนาไปมากขึ้น ชาวยุโรปเริ่มเดินทางมาซีกโลกททางใต้เข้าสู่ประเทศแอฟริกาจึงเกิดปัญหาขึ้นเพราะยิ่งเดินทางเข้าใกล้เส้นศูนย์สูตรมากเท่าไหร่ ดาวเหนือก็จะยิ่งต่ำลงจนหายไปจากเส้นขอบฟ้า
ทำให้มีการพัฒนาควอแดรนท์ เพื่อวัดมุมสูงของดวงอาทิตย์ เมื่ออยู่ในตําแหน่งสูงสุดบนท้องฟ้าแทน ถึงแม้ควอแดรนท์จะมีความละเอียดซับซ้อนในการใช้มากกว่าคามาลอย่างมาก แต่ก็ได้รับความนิยมและถือเป็นเครื่องมือพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการเดินเรือมาอย่างยาวนาน
กลับมาทางฝั่งเอเชียนอกจากการสังเกตดาวหรือดวงอาทิตย์แล้ว เครื่องมือในการนำทางชนิดแรกๆที่เรารู้จักกันอย่างดีในปัจจุบันว่าเข็มทิศได้ถือกำเนิดขึ้นในประเทศจีนเมื่อสองพันกว่าปีก่อน
ชาวจีนนับเป็นชนชาติแรกที่รู้จักนำแม่เหล็กมาทำเป็นเข็มทิศ ทั้งเพื่อใช้ในการหาทิศทางฮวงจุ้ย และการนำทางทั้งบนบกและในทะเล มีบันทึกกล่าวไว้ว่าคนจีนในสมัยก่อนได้สร้างรถชี้ทางโดยจะใช้เข็มแม่เหล็กติดไว้บนรถ เพื่อใช้ในการสงครามและเป็นเครื่องมือหาทิศทางเมื่ออยู่ในภูเขาหรือป่าลึก
จนในศตวรรษที่ 12 ได้มีบันทึกไว้ถึงการใช้เข็มทิศหน้าปัดกลมเป็นครั้งแรกโดย จูยี่ ชาวมณฑล เจ้อเจียง การนำประดิษฐ์เข็มทิศนี้ทำให้การเดินเรือของจีนก้าวหน้าอย่างมาก ด้วยความแม่นยำของเข็มทิศประกอบกับความสะดวกในการใช้ไม่จำเป็นต้องใช้การคำนวณยุ่งยากและสามารถใช้นำทางได้ทั้งกลางวันและกลางคืนในทุกสภาพอากาศ
ในภายหลังเมื่อมีการติดต่อค้าขายกับชาวอาหรับ จึงทำให้ชาวอาหรับรับเอาเข็มทิศของจีนมาใช้ด้วยจนแพร่เข้าสู่ยุโรป ก่อนจะถูกพัฒนาเป็นเข็มหมุนติดกับเดือยในกล่องแห้งในยุคกลางและกลายเป็นแม่เหล็กในของเหลวในที่สุด
เมื่อเทคนิคการเดินทางไกลและการนำทางมีการพัฒนาขึ้นทำให้นักเดินทางสามารถออกสำรวจได้ไกลขึ้นจึงได้มีการทำแผนที่ขึ้นมาเพื่อช่วยนำทางและบอกตำแหน่งสถานที่สำคัญ โดย ศตวรรษที่ 15 ได้ใช้แผนผังการเดินเรือที่เรียกว่า แผนที่เดินเรือพอร์โตลาน หรือผังพอร์ตูลาน (portolan or portulan chart) เป็นแผนที่แสดงเส้นทางการเดินเรือโดยอ้างอิงจากเข็มทิศ และระยะทางจากท่าเรือต่างๆนั้นใช้วิธีการประมาณการของนักเดินเรือรุ่นก่อนๆ เริ่มใช้ในอิตาลีก่อน แล้วแพร่ค่อยๆเผนแพร่ออกไปสู่ประเทศอื่นเพราะความแม่นยำที่ค่อนข้างมาก
จนถึงตอนนี้เทคโนโลยีพัฒนาไปกว่ายุคก่อนอย่างมาก เราจึงไม่จำเป็นต้องวัดดวงดาว หรือใช้เข็มทิศคู่กับแผนที่ในการเดินทางอีกแล้ว เพียงแค่ใช้ ระบบ GPS ซึ่งในปัจจุบันมีทั้งแบบติดตั้งมาในยานพาหนะ หรือในโทรศัพท์มือถือของเราเอง กดเลือกตำแหน่งเป้าหมาย เพียงเท่านี้ GPS ก็จะนำทางให้เราไปจนจุดที่ต้องการได้อย่างง่ายดาย
การนำทาง ในสมัยโบราณนั้น มีวิธีการอย่างไร คนโบราณใช้อะไรในการนำทาง บรรพบุรุษของเรามีวิธีการใช้ดวงดาวหรือเทคนิคในการนำทางอย่างไร มาหาคำตอบกัน