ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่าความจำเป็นในการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับคนกรุง โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่ต้องมีการเดินทางไปจุดต่าง ๆ เข้าตรอกซอกซอย เพื่อหลบเลี่ยงเส้นทางรถติด การมีรถยนต์ส่วนตัวจึงเป็นความนิยม ซึ่งทำให้คนจำนวนมาก ต้องทบทวนกฎหมายจราจรก่อนการสอบใบขับขี่
โดยกฎหมายจราจรพื้นฐานที่ควรรู้ (อ้างอิงจาก พรบ.การจราจรทางบก ปี 2522) ก่อนสอบใบขับขี่มีอะไรบ้าง เรามาดูกัน
- เมื่อเราเจอสัญญาณไฟจราจรสีแดงกระพริบอยู่ ควรต้องจอดรถและหยุดหลังเส้นให้หยุดรถ หรือหลังแถบเส้นที่ลงสีไว้บนพื้นถนน เพื่อไม่ให้รถเราขวางต่อการเคลื่อนตัวของรถยนต์ในทิศทางอื่น
- เมื่อสัญญาณไฟสีเหลืองกระพริบ ผู้ขับขี่ต้องแตะเบรกชะลอความเร็วของตัวรถลงและค่อย ๆ เคลื่อนรถผ่านบริเวณนั้นด้วยความระมัดระวังให้มากขึ้นกว่า เพราะมักเป็นจุดเสี่ยง เช่น เป็นย่านโรงเรียน หรือโรงพยาบาล ที่มีคนพลุกพล่านไปมา และมีเด็กเล็กที่ไม่ทันระวังรถจำนวนมากบริเวณนั้น
- เมื่อเห็นเครื่องหมายหยุด ควรต้องหยุดรถในทันที และให้ผู้ที่เดินสัญจรได้เดินผ่านหน้ารถไปก่อน เมื่อมองซ้ายแลขวาไม่เห็นคนที่จะเดินมาอีก และไม่ขัดต่อสัญญาณไฟจราจร ก็สามารถเยียบคันเร่งเคลื่อนรถไปต่อ แต่ก็ต้องใช้ความระมัดระวังเช่นกัน
- เมื่อเห็นป้าย สัญลักษณ์จราจร “ให้ทาง” หมายถึงต้อง ให้ทางแก่รถคันอื่น ๆ และให้ผู้ที่เดินสัญจรไปมาได้เดินผ่านไปก่อน จนเมื่อเห็นว่าปลอดคน และไม่มีรถเคลื่อนผ่านแล้ว ก็ค่อยเหยียบคันเร่งเคลื่อนรถไปต่อได้
- กฎหมายจราจรระบุว่า หากเห็นป้ายเครื่องหมายเตือนสีน้ำเงินลูกศรชี้ลงด้านซ้าย พร้อมคำว่า ให้ชิดซ้าย แปลว่า ให้เปลี่ยนเลน เข้าช่องจราจรซ้ายสุด
- หากเห็นเครื่องหมาย ลูกศรเรียงตัวกันเป็นวงกลม บนป้ายพื้นสีน้ำเงิน พร้อมคำว่า วงเวียนแบบนี้ หมายถึงต้องคอยให้รถในวงเวียนเคลื่อนตัวผ่านก่อน โดยจะเคลื่อนตามเข็มนาฬิกาหรือ วนไปทางซ้าย
- หากเห็นป้ายลูกศรที่ช่วงแรกมีทิศขึ้นแล้ว แต่โค้งวกกลับหัวลูกศรลง พร้อมกับวงกลมมีขีดฆ่าด้านใน พร้อมกับคำว่ากลับรถ แปลว่าห้ามใช้จุดที่ติดตั้งป้ายนี้กลับรถทุกกรณี เพราะอาจเป็นจุดเสี่ยงต่ออุบัติภัยสูง แม้จะไมมีเครื่องขวางกั้น เช่น แบริเออร์จราจร ก็ตาม
- สำหรับอุปกรณ์ของรถยนต์ที่กฎหมายจราจรระบุไว้ ได้แก่ รถยนต์ต้องใช้แตรที่ให้เสียงดังในระยะ 60 เมตรขึ้นไป ทั้งนี้ ต้องสังเกตป้ายเตือนงดใช้เสียงในพื้นที่สำคัญ เช่น โรงพยาบาล เพราะเป็นการรบกวนต่อการรักษาผู้ป่วยได้
- กฎหมายจราจรระบุว่า ห้ามรถที่ไม่ผ่านการต่ออายุเสียภาษีรถมาขับขี่บนท้องถนนโดยเด็ดขาด ซึ่งเรื่องการต่ออายุภาษีรถนั้น ผู้ขับขี่จำเป็นต้องรับผิดชอบชำระเป็นประจำทุกปี ดังนั้น ผู้ที่นิยมการโอนลอย จึงจำเป็นที่ผู้ซื้อและผู้ขาย ต้องตรวจสอบตรงจุดนี้ให้ดี เพื่อไม่ให้มีปัญหาประวัติค้างจ่ายภาษี
- ห้ามใช้ป้ายทะเบียนที่ทำขึ้นเอง เป็นหนึ่งกฎหมายจราจรที่พบว่ามีผู้ฝ่าฝืนมากในปัจจุบัน มีการปลอมเลขหรือสวมทะเบียนปลอมมากมายดังที่เป็นข่าว ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างมาก เพราะทำให้ติดตามตัวผู้กระทำความผิดเวลาเกิดอุบัติเหตุได้ยาก ตัวอย่าง เช่น การฝ่าสัญญาณไฟแดง ที่จะมีการบันทึกป้ายทะเบียนจากกล้องทางการฯ จับภาพทางหน้ารถ ทำให้เกิดเป็นข้อโต้แย้งและการตรวจสอบที่ตามมาจนพบว่าเกิดจากปัญหา การใช้ป้ายทะเบียนที่ไม่ถูกต้องมากมาย ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางบก ได้แจ้งเตือนภัยผู้ที่จะซื้อรถมือสอง ว่าไม่ควรซื้อแบบโอนลอย เพราะจะเกิดปัญหาการหลุดรอดการตรวจสอบนี้
- การฝ่าฝืนกฎหมายจราจร มีโทษปรับในอัตราที่แตกต่างกัน เช่น รถที่ไม่มีป้ายทะเบียน ถ้านำมาวิ่งบนท้องถนน จะต้องเสียค่าปรับให้ทางการฯ 1 พันบาท รถยนต์ที่มีการแต่งเครื่องยนต์ หรือ ที่เราเห็นในภาพข่าวว่า รถซิ่งต่าง ๆ ทำให้เสียงดังเกินเกณฑ์ที่กฎหมายจราจร กำหนด เป็นผลเสียทางร่างกายและจิตใจต่อผู้อื่น ต้องถูกปรับ ไม่เกิน 1 พันบาท หรือกรณี ไม่เปิดไฟรถ ในช่วงที่ทัศนวิสัยไม่ดี ทำให้รถคันอื่นไม่สามารถเห็นรถของเราได้ในระยะ 150 เมตร ก็ต้องเสียค่าปรับให้ทางการฯ 1 พันบาท เช่นกัน
- กฎหมายจราจรเรื่องการฝ่าสัญญาณไฟแดง มีโทษปรับ ไม่เกิน 1 พันบาท หรือ การไม่หยุดรถหลังเส้นเมื่อมีสัญญาณไฟแดง หรือป้ายให้หยุดรถ ก็ปรับในอัตราเดียวกัน ส่วนคนที่สัญจรไปมาก็เช่นกัน กฎหมายจราจรก็กำหนดโทษสำหรับผู้ที่ไม่ข้ามถนนตรงทางม้าลาย โดยที่ทางข้ามอยู่ภายในระยะ 100 เมตร ว่าต้องโทษปรับไม่เกิน 200 บาท เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า กฎหมายจราจรมีไว้เพื่อรักษาความปลอดภัยในการใช้ท้องถนนร่วมกัน และยังสร้างความปลอดภัยต่อผู้ที่เดินสัญจร เช่น การข้ามถนนทางม้าลาย ด้วย ทั้งนี้ กฎหมายจราจร ได้มีการระบุเรื่องโทษและค่าปรับจากการฝ่าฝืนไว้เสมอ เพื่อเป็นการลงโทษผู้ที่กระทำฝ่าฝืนกฎต่าง ๆ
ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ทุกคนใส่ใจในการดูแลสภาพรถ และหมั่นทบทวนกฎหมายจราจรที่เกี่ยวข้อง เพื่อการทำความเข้าใจและสามารถวางแผนการขับรถได้ถูกต้อง เช่น หากเจอเครื่องหมาย ห้ามยูเทิร์น ก็ต้องวางแผนว่าจะปรับเส้นทางอย่างไรจึงจะเหมาะสม