BLOGS

มารู้จักกับแบตเตอรี่รถยนต์กันสักนิด

คุณต้องการให้ คาร์แทรค ช่วยเหลือเรื่องอะไร?

ฉันเป็น / ...
จำนวนยานพาหนะของคุณ
ขอบคุณค่ะ เจ้าหน้าที่คาร์แทรคจะติดต่อกลับหาคุณโดยเร็วที่สุด
Oops! Something went wrong while submitting the form.

เชื่อว่าคุณผู้อ่านหลายคนคงเคยได้ยินคำว่า แบตเตอรี่ รถยนต์มาแล้ว บางทีรถสตาร์ทไม่ติด ก็บอกแบตหมด บางทีก็ถูกเตือนว่า อย่าลืมปิดไฟหน้ารถ เพราะอาจทำให้แบตหมดได้ แล้วตกลงเจ้าสิ่งที่เรียกกันว่าแบตเตอรี่นี่ มันคืออะไร มีความสำคัญอย่างไรกับรถยนต์กันแน่ มาทำความรู้จักกันเลย

เจ้าสิ่งนี้มันคืออะไร?

คุณผู้อ่านหลายคนเข้าใจผิดคิดว่าแบตเตอรี่รถยนต์ คือ อุปกรณ์สำหรับผลิตไฟฟ้า แต่ความจริงแล้วมันคืออุปกรณ์เก็บไฟฟ้าต่างหาก ตอนที่สตาร์ทรถ แบตเตอรี่จะส่งไฟฟ้าไปยังมอเตอร์สตาร์ทเพื่อเริ่มกระบวนการจุดระเบิด พอเครื่องติดแล้ว ไดร์ชาร์จก็จะเป็นตัวผลิตไฟฟ้า โดยไฟฟ้าที่ได้นี้จะส่งไปเก็บที่แบตฯ เสมอ เมื่อเราใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าภายในรถยนต์ ไฟฟ้าในแบตฯ จะลดลง ไดร์ชาร์จก็จะปั่นไฟไปเติมในแบตฯ ให้มันเต็มอีก พอเต็มแล้ว ไดร์ชาร์จก็จะหยุดทำงาน

สำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในรถยนต์ ได้แก่ ระบบสตาร์ท , วิทยุในรถ , ระบบเปิดปิดกระจก , ระบบให้แสงสว่างภายนอกตัวรถ พวกไฟหน้า ไฟเบรก ไฟท้าย และระบบให้แสงสว่างภายในรถ ซึ่งก็คือไฟในเก๋งนั่นเอง

เวลาที่เราเสียบกุญแจเพื่อสตาร์ทรถ มันจะมี 3 ตำแหน่ง คือ Off ไม่มีอะไรเกิดขึ้น , On คือ อุปกรณ์ไฟฟ้าในรถใช้งานได้ ตำแหน่งนี้ แบตเตอรี่จะจ่ายไฟ แต่ไดร์ชาร์จไม่ทำงาน และตำแหน่งสุดท้าย คือ สตาร์ท ตำแหน่งนี้เครื่องยนต์ทำงาน ไดร์ชาร์จทำงาน ถ้าเราบิดกุญแจที่ตำแหน่ง On แล้วเปิดเพลงฟัง แบตเตอรี่จะลดลง พอบิดไปที่สตาร์ท ไดร์ชาร์จก็จะปั่นไฟไปเติมในแบตฯ ให้เต็ม ดังนั้นหากดับเครื่องเปิดเพลงฟังนานๆ ก็ควรสตาร์ทเพื่อให้ไดร์ชาร์จปั่นไฟสักทีหนึ่ง

แบตเตอรี่ รถทำงานอย่างไร

สำหรับแบตฯ แบบ Convention ปกติ ด้านในของมันจะประกอบไปด้วย แผ่นตะกั่วออกไซด์ที่เรียกว่าแผ่นธาตุบวก และแผ่นตะกั่วบริสุทธิ์ที่เรียกว่าแผ่นธาตุลบ แช่อยู่ในกรดซัลฟูริก (ค่าความถ่วงจำเพาะระหว่าง 1.260 – 1.280) เมื่อมีการจ่ายไฟออกไปยังอุปกรณ์ต่างๆ แผ่นธาตุลบและแผ่นธาตุบวกจะกลายเป็นตะกั่วซัลเฟต ส่วนในกรดซัลฟูริกมันจะกลายเป็นซัลเฟต มีลักษณะเป็นตะกอนสีขาวไปเกาะอยู่ที่แผ่นธาตุบวกและลบ ทำให้กรดเจือจางลง (ค่าความถ่วงจำเพาะลดลง) พอถึงจุดหนึ่งมันก็จะส่งกระแสไฟไม่ได้อีกต่อไป หรือที่เรียกว่าแบตหมดนั่นเอง เมื่อแบตหมดก็ต้องชาร์จ โดยการชาร์จ ก็คือ การปล่อยกระแสไฟฟ้าเข้าไป ทำให้ตะกอนสีขาวที่เกาะอยู่กับแผ่นธาตุทั้งสองหลุดออกมาละลายในน้ำ จนกระทั่งน้ำนั้นกลายเป็นกรดซัลฟูลิกที่มีค่าความถ่วงจำเพาะดังเดิม

แบตเตอรี่ รถยนต์ มีกี่ชนิด อะไรบ้าง?

  1. ชนิดเปียก (Conventional Battery) แบตฯ ชนิดนี้เป็นแบบตะกั่วกรด ในครั้งแรกก่อนเริ่มใช้จะต้องเติมกรดและชาร์จไฟเสียก่อน หลังจากที่คุณนำมาใช้แล้วก็ไม่ต้องเติมกรดให้วุ่นวายอีก เพียงแต่คุณต้องหมั่นเช็คทุกๆ สัปดาห์ว่าของเหลวในแบตเตอรี่ลดลงต่ำกว่าขีดที่กำหนดหรือไม่ ถ้าหากต่ำกว่า คุณจะต้องเติมน้ำกลั่นลงไป แบตฯ ชนิดนี้มีอายุการใช้งาน 1.5 – 2 ปี ขึ้นอยู่กับการดูแล
  2. ชนิดกึ่งแห้ง (Maintenance Free Batterry หรือ MF) แบตฯ ชนิดนี้ ยังคงเป็นแบบตะกั่วกรดเพียงแต่มีส่วนผสมของแคลเซียม ที่ทำให้เวลาชาร์จแบตหรือคายแบตออกจะเกิดฟองเล็กกว่าแบบแรก เลยสูญเสียของเหลวน้อยกว่า แถมฝายังมีช่องให้ก๊าซระเหยออกมาได้น้อยมากๆ อัตราการระเหยจึงน้อยกว่าแบบแรกด้วย การใช้แบตฯ MF ช่วยให้คุณไม่ต้องหมั่นตรวจของเหลวภายในเป็นประจำ ตรวจแค่ 6 เดือนต่อหนึ่งครั้ง หรือถ้าจอดไว้เฉยๆ ไม่ได้ใช้ก็ไม่ต้องตรวจเลยก็ได้ แบตฯ MF นี้มีอายุการใช้งานประมาณ 1 ปีครึ่งถึง 2 ปี เช่นเดียวกับแบบแรก ในการใช้ครั้งแรกไม่ต้องเติมกรดเพราะเขาเติมให้มาจากโรงงานแล้ว เพียงแต่ว่าจะต้องเติมน้ำกลั่น หากระดับของเหลวต่ำกว่าขีดที่ระบุไว้เท่านั้นเอง
  3. ชนิดแห้ง (Seal Maintenance Free Battery หรือ SMF) ภายในแบตฯ SMF ยังคงใช้ของเหลวเป็นสื่อกลาง เพียงแต่ซีลมาดีจนไม่มีทางระเหยออก แถมยังใช้ระบบที่ทำให้ไอน้ำควบแน่นกลั่นตัวเป็นหยดน้ำกลับลงไปในแบตฯ จึงไม่ต้องเติมน้ำกลั่น ตัวแบตฯ จะมีตาแมวเอาไว้ตรวจเช็คระดับไฟ คุณควรตรวจดูไฟตาแมวให้แน่ใจว่าแบตเตอรี่ของคุณปกติดีอยู่เสมอ แบตฯ ชนิด SMF มีอายุการใช้งานนาน คือ ประมาณ 5-10 ปี แต่ข้อเสียก็คือมีราคาค่อนข้างสูงกว่าสองแบบแรก

การตรวจแบตเตอรี่

เวลาตรวจดูแบตฯ ด้วยตา มี 3 สิ่งที่คุณควรจะต้องคำนึงถึงดังนี้

  1. ระดับน้ำสำหรับแบตฯ MF และ SMF ระดับของน้ำจะต้องอยู่ไม่สูงกว่าระดับ Upper level และจะต้องไม่ปล่อยให้น้ำอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า lower level ในเมื่อคุณจะต้องเช็คระดับน้ำทุกสัปดาห์อยู่แล้ว คุณก็ควรเติมน้ำกลั่นให้อยู่ที่ระดับ Upper level ตลอดเวลาไปเลย
  2. ขั้วแบตฯ หากขั้วแบตฯ ของคุณสกปรก จะทำให้แบตฯ จ่ายไฟได้ไม่เต็มที่ หากขั้วหลวม จะทำให้สตาร์ทเครื่องลำบาก และอาจส่งผลให้การชาร์จไฟจากไดร์ชาร์จผิดปกติ ขั้วแบตฯ จึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่คุณควรตรวจดูเสมอ
  3. รอบนอกของแบตฯ ส่วนที่เป็นเปลือกหุ้มแบตเตอรี่ภายนอกทั้งหมดก็เป็นสิ่งสำคัญที่ควรจะต้องหมั่นตรวจดูเสมอว่ามีรอยแตก บวม หรือมีความผิดปกติอื่นๆ หรือไม่ หากผิดปกติต้องพบช่างทันที

คิดว่าคุณผู้อ่านหลายคนคงจะพอเข้าใจกันบ้างแล้วว่า แบตเตอรี่รถยนต์เป็นอุปกรณ์เก็บไฟฟ้า เพื่อใช้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าในรถทั้งหมด ที่สำคัญก็คือถ้าแบตฯ หมดก็สตาร์ทไม่ติด เพราะฉะนั้นหมั่นดูแลมันให้ดีจะดีกว่า

บางทีรถสตาร์ทไม่ติด ก็บอกแบตหมด ลืมปิดไฟหน้ารถ ก็ทำให้แบตหมดได้ แบตเตอรี่รถ คืออะไร มีความสำคัญอย่างไรกับรถ มาทำความรู้จักกันเลย